การที่ผู้เสียหายตกเป็นเหยื่อให้กับมิจฉาชีพที่หลอกให้โอนเงินด้วยวิธีการต่างๆ เช่น หลอกให้ลงทุนในหุ้นหรือกองทุนเพื่อได้รับค่าตอบแทนที่สูง หลอกให้รักและชวนไปลงทุน หลอกเป็นเจ้าหน้าที่ธนาคารและเจ้าหน้ารัฐกล่าวหาว่าเหยื่อเข้าไปมีความผิดโดยให้โอนเงินไปพิสูจน์ความผิด หลอกให้ทำภารกิจต่างๆที่เงื่อนไขงงๆแต่เหมือนว่าจะได้กำไร แต่สุดท้ายถอนเงินที่ลงทุนหรือเงินโอนไปตรวจสอบออกมาไม่ได้ ทำให้ต้องเสียเงินเก็บทั้งชีวิตไปทั้งหมดนั้น ไม่ใช่ว่าผู้เสียหายจะต้องรับผิดชอบต่อตนเองให้กับเงินที่เสียไปเพราะถูกหลอกลวงแต่เพียงผู้เดียว แต่ประเทศไทยเรามีบทบัญญัติกฎหมายอยู่จำนวนหลายฉบับที่กำหนดหน้าที่ให้สถาบันการเงินและค่ายมือถือ รวมไปถึงผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ต
มีหน้าที่หลายอย่างที่หากปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด จะช่วยปกป้องผู้เสียหายจากการถูกองค์กรอาชญากรรมทางเทคโนโลยี(ขบวนการคอลเซ็นเตอร์) หลอกลวงเอาได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเนื่องจากสถานการณ์ในปัจจุบัน ก่อนที่ผู้เสียหายรู้ตัวว่าโดนหลอก แล้วมาแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจนั้น เงินที่ผู้เสียหายโอนไปให้กับคนร้ายมักจะถูกเปลี่ยนเป็นทรัพย์สินดิจิทัล(คริปโตเคอร์เรนซี่) แล้วโอนหนีอำนาจการตรวจสอบและอายัดของเจ้าหน้าที่ตำรวจไทยไปยังต่างประเทศแล้วเสมอ จึงเป็นเรื่องยากมากที่เจ้าหน้าที่ตำรวจจะสามารถติดตามทรัพย์สินกลับมาให้กับประชาชนผู้เสียหายได้ แต่ในทุกๆเคส ผู้เสียหายรวมไปถึงคนร้ายจะต้องมีการทำธุรกรรมกับสถาบันการเงินหรือใช้บริการผู้ให้บริการโทรศัพท์และอินเตอร์เน็ต ก่อนที่การหลอกลวงจะสำเร็จเสร็จสิ้นเสมอ
เพราะฉะนั้นหน้าที่ของสถาบันการเงินและผู้ให้บริการด้านการสื่อสารจึงมีความสำคัญอย่างมากในการช่วยปกป้องผู้เสียหายจากมิจฉาชีพที่มาหลอกให้ผู้เสียหายโอนเงิน โดยในบทความนี้ AMLbot TH จะมานำเสนอรายละเอียดข้อกฎหมายบางส่วนที่มีการกำหนดหน้าที่ ให้กับ สถาบันการเงินและผู้ให้บริการด้านการสื่อสาร
ตัวบทกฎหมายและข้อบัญญัติ
ใน กฎกระทรวงการตรวจสอบเพื่อทราบ ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้า พ.ศ. ๒๕๖๓ ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปราบการฟอกเงิน พ.ศ. ๒๕๔๒ กำหนดไว้ว่า
ข้อ ๕ ให้สถาบันการเงินตรวจสอบธุรกรรมที่ลูกค้าได้ทำขึ้นเพื่อบริหารและบรรเทาความเสี่ยง ในกรณีที่สงสัยว่าเป็นธุรกรรมที่เกี่ยวข้องหรืออาจเกี่ยวข้องกับความผิดมูลฐาน การฟอกเงิน หรือการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายหรือการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง ให้รายงานเป็นธุรกรรมที่มีเหตุอันควรสงสัยต่อสำนักงาน
ข้อ ๖ ให้สถาบันการเงินปรับปรุงข้อมูลต่างๆ ของลูกค้าที่ใช้ในการแสดงตน การระบุตัวตน และที่นำมาพิจารณาในการประเมิน บริหาร และ บรรเทาความเสี่ยงให้เป็นปัจจุบัน และต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องจนกว่าจะยุติความสัมพันธ์ทางธุรกิจ กับลูกค้า ทั้งนี้ ไม่รวมถึงข้อมูลของลูกค้าที่ทำธุรกรรมเป็นครั้งคราว
ข้อ ๗ บรรดาข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้าตามกฎกระทรวงนี้ ที่สถาบันการเงินได้มาตามกฎหมายว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์หรือกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง ให้ถือว่าเป็นข้อมูลหรือหลักฐานเกี่ยวกับการตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้าตามกฎกระทรวงนี้
ข้อ ๘ ให้สถาบันการเงินกำหนดและดำเนินการตามนโยบายและระเบียบวิธีการสำหรับการประเมิน บริหาร และบรรเทาความเสี่ยงภายในองค์กรของสถาบันการเงินโดยนโยบายและระเบียบวิธีการดังกล่าวอย่างน้อยต้องมีลักษณะ ดังต่อไปนี้
(๑) จัดทำขึ้นเป็นลายลักษณ์อักษร
(๒) มีความสำคัญระดับสูงสุด ซึ่งผ่านความเห็นชอบและได้รับอนุมัติจากผู้บริหารระดับสูงหรือ คณะกรรมการของสถาบันการเงิน
(๓) ได้รับการทบทวนเป็นระยะและปรับปรุงให้ทันสมัยอยู่เสมอ
การกำหนดและดำเนินการตามนโยบายและระเบียบวิธีการตามวรรคหนึ่งให้เป็นไปตามที่ เลขาธิการประกาศกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ
แนวทางในการกำหนดนโยบายและระเบียบวิธีการสำหรับการประเมิน บริหาร และบรรเทาความเสี่ยงด้านการฟอกเงิน หรือการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย หรือการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูงภายในองค์กร ของสถาบันการเงินมาตรา ๘ วรรค ๒ ซึ่งระบุแนวทางไว้ให้ มีรายละเอียดที่สำคัญคือ (๓) ความเสี่ยงเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์หรือบริการ ให้พิจารณาจากลักษณะผลิตภัณฑ์หรือบริการ อย่างน้อย ดังต่อไปนี้
- ผลิตภัณฑ์หรือบริการที่สามารถให้ รับ หรือเปลี่ยนเป็นเงินสดได้ ซึ่งความเสี่ยง จะเพิ่มขึ้นตามจำนวนเงินสดที่ผลิตภัณฑ์หรือบริการนั้นสามารถรองรับได้
- ผลิตภัณฑ์หรือบริการที่สามารถโอนหรือเปลี่ยนมือให้แก่บุคคลอื่นได้ ซึ่งความเสี่ยง จะเพิ่มขึ้นตามมูลค่า ความถี่ ความรวดเร็ว หรือความสะดวก ในการโอนหรือเปลี่ยนมือ
- ผลิตภัณฑ์หรือบริการที่สามารถใช้หรือนำไปใช้ได้ในต่างประเทศ ซึ่งความเสี่ยง จะเพิ่มขึ้นหากผลิตภัณฑ์หรือบริการนั้นสามารถใช้ข้ามประเทศได้
ข้อ ๕ ให้สถาบันการเงินจัดให้มีระเบียบวิธีการ ในการบริหารและบรรเทาความเสี่ยงภายในองค์กรตามข้อ ๔ โดยต้องกำหนดและดำเนินการตามนโยบายและระเบียบวิธีการที่เป็นลายลักษณ์อักษรซึ่งมีสาระสำคัญ ดังต่อไปนี
(๑) ในการรับลูกค้า สถาบันการเงินต้องกำหนด กระบวนการเพื่ออนุมัติการสร้างความสัมพันธ์ทางธุรกิจหรือการทำธุรกรรม หรือปฏิเสธการสร้าง ความสัมพันธ์ทางธุรกิจหรือการทำธุรกรรมกับลูกค้า โดยปฏิบัติตามหลักเกณฑ์การจัดให้ลูกค้าแสดงตน การระบุตัวตนของลูกค้า และการพิสูจน์ทราบตัวตนของลูกค้า ตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกัน และปราบปรามการฟอกเงิน และการตรวจสอบข้อมูลของลูกค้าและผู้ได้รับผลประโยชน์ที่แท้จริง ของลูกค้ากับข้อมูลรายชื่อบุคคลที่ถูกกำหนด ตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปราม การสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายและการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง ดังนี้
(ก) เพื่อให้บรรลุนโยบายและระเบียบวิธีการรับลูกค้าให้สถาบันการเงินและผู้ประกอบอาชีพ ตามมาตรา ๑๖ ต้องจัดให้มีแนวทาง หรือวิธีการ หรือคู่มือเพื่อให้บุคลากรปฏิบัติ
(ข) การรับลูกค้าเริ่มตั้งแต่ขั้นตอนการขอหรือแสวงหาข้อมูลการแสดงตนของลูกค้า และ การระบุตัวตนของลูกค้า การตรวจสอบข้อมูลของลูกค้า การพิสูจน์ทราบตัวตนของลูกค้า การหา ผู้ได้รับประโยชน์ที่แท้จริงของลูกค้า การตรวจสอบรายชื่อบุคคลที่ถูกกำหนด และการอนุมัติหรือปฏิเสธ การสร้างความสัมพันธ์ทางธุรกิจหรือการทำธุรกรรม นับแต่เมื่อได้รับแจ้งความประสงค์จากลูกค้า
(๒) การบริหารและบรรเทาความเสี่ยง สถาบันการเงินต้องกำหนดหลักการบริหารความเสี่ยงสำหรับลูกค้าทั้งหมด โดยต้องพิจารณาปัจจัยในการกำหนดความเสี่ยง ไม่น้อยกว่าที่กฎหมายกำหนด และต้องดำเนินการบริหารและบรรเทาความเสี่ยงตลอดระยะเวลา ที่ยังดำเนินความสัมพันธ์ทางธุรกิจกับลูกค้าและสิ้นสุดลงเมื่อยุติความสัมพันธ์ทางธุรกิจกับลูกค้า ดังนี้
(ก) สถาบันการเงินต้องประเมินความเสี่ยง ของลูกค้าตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดเพื่อให้บรรลุนโยบายและระเบียบวิธีการบริหารความเสี่ยง พร้อมทั้งต้องจัดทำแนวทาง หรือวิธีการ หรือคู่มือเพื่อให้บุคลากรปฏิบัติ ในการบริหารความเสี่ยง ของลูกค้าที่สร้างความสัมพันธ์ทางธุรกิจในบริการทุกประเภทและในทุกช่องทางที่ให้บริการ
(ข) การบริหารความเสี่ยง เริ่มตั้งแต่ขั้นตอนการประเมินเพื่อระบุและพิสูจน์ทราบตัวตน ของลูกค้า การกำหนดระดับความเสี่ยงสำหรับลูกค้าแต่ละราย การตรวจสอบความเคลื่อนไหว ในการทำธุรกรรมซึ่งสอดคล้องกับระดับความเสี่ยงของลูกค้า การตรวจทานข้อมูลการพิสูจน์ทราบลูกค้า ซึ่งสอดคล้องกับระดับความเสี่ยงของลูกค้า การทบทวนการประเมินความเสี่ยง จนถึงการยุติความสัมพันธ์ ทางธุรกิจกับลูกค้าแต่ละราย
(๔) มีมาตรการควบคุมภายในที่เหมาะสมกับความเสี่ยงภายในองค์กร และขนาดธุรกิจ ของสถาบันการเงินโดยรายละเอียดของนโยบายและระเบียบ วิธีการเกี่ยวกับการควบคุมภายในให้เป็นไปตามประกาศส านักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินเรื่อง การกำหนดและดำเนินการตามนโยบายและระเบียบวิธีการเกี่ยวกับการควบคุมภายในของสถาบัน การเงิน
(๕) มีมาตรการในการดำเนินงานเกี่ยวกับการร่วมใช้ข้อมูลระหว่างสถาบันการเงินและ ผู้ประกอบอาชีพตามมาตรา ๑๖ กับสาขาหรือบริษัทในเครือทั้งในประเทศและต่างประเทศ และอยู่ใน กลุ่มธุรกิจเดียวกัน
(๖) มีมาตรการเกี่ยวกับวิธีการ ขั้นตอน และรายละเอียดในการเก็บรักษาข้อมูลที่เกี่ยวกับ การจัดให้ลูกค้าแสดงตน ข้อมูลเกี่ยวกับกระบวนการตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้า และข้อมูลเกี่ยวกับการรายงานธุรกรรม
ข้อ ๖ สถาบันการเงินต้องกำหนดแผนในการพัฒนา และปรับปรุงนโยบายและระเบียบวิธีการตามประกาศนี้ โดยต้องได้รับการทบทวนเป็นระยะและปรับปรุง ให้เป็นปัจจุบันอยู่เสมอ
ข้อ ๗ สถาบันการเงินอาจกำหนดนโยบายเรื่องอื่น ๆ นอกจากนโยบายตามประกาศนี้ เพื่อรองรับการปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปราม การฟอกเงินและกฎหมายว่าด้วยการ
ข้อ ๘ กำหนดนโยบายสำหรับ การประเมิน บริหาร และบรรเทาความเสี่ยงด้านการฟอกเงิน หรือการสนับสนุนทางการเงิน แก่การก่อการร้าย หรือการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูงภายในองค์กรของสถาบันการเงิน
ข้อ ๙ ให้สถาบันการเงินกำหนดมาตรการที่เหมาะสม ในการประเมินความเสี่ยงภายในองค์กรของสถาบันการเงินโดยดำเนินการ ดังต่อไปนี้
(๑) นำปัจจัยความเสี่ยงที่เกี่ยวกับลูกค้า พื้นที่หรือประเทศ ผลิตภัณฑ์หรือบริการ ธุรกรรม หรือช่องทางในการให้บริการมาประกอบการพิจารณาประเมินความเสี่ยง
(๒) จัดทำรายงานการประเมินความเสี่ยง
(๓) ปรับปรุงผลการประเมินความเสี่ยงให้เป็นปัจจุบัน
การระบุตัวตนของลูกค้าและผู้ได้รับผลประโยชน์ที่แท้จริงของลูกค้าตามวรรคหนึ่ง (๑) และ (๒) ให้เป็นไปตามแนวทางที่เลขาธิการประกาศกำหนด
ข้อ ๑๙ ในกรณีที่ต้องระบุตัวตนและพิสูจน์ทราบตัวตนของลูกค้าที่เป็นนิติบุคคลและบุคคล ที่มีการตกลงกันทางกฎหมาย นอกจากสถาบันการเงินจะต้อง ตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้าตามข้อ ๑๗ และ ข้อ ๑๘ แล้ว ให้สถาบันการเงินและ ผู้ประกอบอาชีพตามมาตรา ๑๖ ทำความเข้าใจเกี่ยวกับลักษณะธุรกิจของลูกค้า ตลอดจนโครงสร้าง การบริหารจัดการหรือการเป็นเจ้าของ และอำนาจในการควบคุมนิติบุคคลหรือบุคคลที่มีการตกลงกัน ทางกฎหมายนั้นด้วย โดยการระบุตัวตนและพิสูจน์ทราบตัวตนของลูกค้าดังกล่าวให้ใช้ข้อมูลหรือ หลักฐาน ดังต่อไปนี้
(๑) ชื่อและประเภท ตลอดจนข้อมูลที่สามารถพิสูจน์ได้ถึงสถานะทางกฎหมายและการมีอยู่จริง ของนิติบุคคลหรือบุคคลที่มีการตกลงกันทางกฎหมาย
(๒) ข้อมูลเกี่ยวกับอำนาจในการควบคุม กำกับดูแล และผูกพันนิติบุคคลหรือบุคคลที่มี การตกลงกันทางกฎหมาย รวมทั้งให้ระบุบุคคลที่เกี่ยวข้องซึ่งมีต าแหน่งบริหารระดับสูง ทั้งนี้ สถาบัน การเงินต้องดำเนินการตรวจสอบบุคคลดังกล่าวตามข้อ ๑๗ วรรคหนึ่ง (๓) ด้วย
(๓) สถานที่ตั้งตามที่จดทะเบียนและสถานที่ตั้งส านักงานใหญ่
ข้อ ๒๒ ให้สถาบันการเงินดำเนินการตามข้อ ๑๗ วรรคหนึ่ง (๑) (๒) และ (๓) ให้แล้วเสร็จก่อนอนุมัติสร้างความสัมพันธ์ทางธุรกิจหรือทำธุรกรรม เป็นครั้งคราวกับลูกค้า ในกรณีที่มีความจำเป็นเพื่อมิให้เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจตามปกติ สถาบันการเงินอาจดำเนินการพิสูจน์ทราบตัวตนของลูกค้าและ ผู้ได้รับผลประโยชน์ที่แท้จริงในโอกาสแรกที่สามารถทำได้ภายหลังจากที่มีการอนุมัติสร้างความสัมพันธ์ ทางธุรกิจหรือทำธุรกรรมเป็นครั้งคราวกับลูกค้านั้นก็ได้ แต่ต้องกำหนดให้มีมาตรการในการบริหารและ บรรเทาความเสี่ยงตามข้อหนึ่งข้อใด ดังต่อไปนี้
(๑) จำกัดจำนวนครั้งของการทำธุรกรรม
(๒) จำกัดประเภทของธุรกรรม
(๓) จำกัดจำนวนเงินของการทำธุรกรรมที่สามารถทำได้
ข้อ ๒๓ ในกรณีที่สถาบันการเงินไม่สามารถตรวจสอบ เพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้าตามข้อ ๑๗ ได้ ให้สถาบันการเงินปฏิเสธการสร้างความสัมพันธ์ทางธุรกิจ ไม่ทำธุรกรรม ยุติความสัมพันธ์ทางธุรกิจ หรือไม่ทำธุรกรรม เป็นครั้งคราวกับลูกค้าดังกล่าว และพิจารณารายงานเป็นธุรกรรมที่มีเหตุอันควรสงสัยต่อสำนักงาน
ตัวอย่างคำพิพากษาฎีกา
คำพิพากษาฎีกาที่ 6280/2538
ธนาคารรับฝากเงินถือเป็นผู้มีวิชาชีพเฉพาะในกิจการค้าขายหรืออาชีวะ จึงต้องมีความระมัดระวังในการตรวจสอบลายมือชื่อในเช็คที่ผู้ฝากสั่งจ่าย หากขาดความระมัดระวังเป็นการกระทำละเมิดและผิดสัญญาฝากทรัพย์ ธนาคารจะยกข้อตกลงยกเว้นความรับผิดที่ระบุไว้ในคำขอเปิดบัญชีมาอ้างเพื่อปฏิเสธความรับผิดไม่ได้
คำพิพากษาฎีกาที่ 520/2554
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 653 วรรคสาม ได้กำหนดมาตรฐานในการระมัดระวังในการปฏิบัติตามสัญญาในขั้นสูงสุดเยี่ยงผู้มีวิชาชีพจะพึงปฏิบัติในกิจการที่กระทำ เมื่อเงินฝากของลูกค้าธนาคารถูกเบิกถอนไปจนหมดธนาคารจึงผิดสัญญาฝากเงิน เพราะไม่ได้ใช้ความระมัดระวัง ธนาคารจึงต้องรับผิดชดใช้เงินจำนวนดังกล่าวคืนลูกค้าผู้ฝากเงิน
คำพิพากษาฎีกาที่ 3113/2534
พนักงานของธนาคารปฏิบัติงานผิดพลาด ถอนเงินจากบัญชีของผู้ฝากเงินคนหนึ่งไปเข้าบัญชีของอีกคนหนึ่ง เงินที่ถอนออกไปเป็นเงินของธนาคาร ธนาคารจึงมีสิทธิติดตามเอาคืนจากลูกค้าคนหลังที่ได้เงินไปโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1336 ไม่มีอายุความ
คำพิพากษาฎีกาที่ 1795/2541
ธนาคารผู้รับฝากเงินเป็นอาชีพโดยหวังผลประโยชน์ในการนำเงินฝากของลูกค้าไปแสวงหาผลประโยชน์ จึงต้องใช้ความระมัดระวังและความรู้ความชำนาญเป็นพิเศษ หากธนาคารจ่ายหรือหักบัญชีของลูกค้าไปให้บุคคลอื่น ถือเป็นการประมาทเลินเล่อของธนาคาร
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 880/2546
ลายมือชื่อโจทก์ในใบถอนเงินไม่เหมือนกับลายมือชื่อโจทก์ในตัวอย่างลายมือชื่อในสมุดเงินฝากและคำขอเปิดบัญชีเงินฝากออมทรัพย์โดยชัดแจ้ง เพียงแต่คล้ายกันเท่านั้น ซึ่งโดยปกติถ้าเป็นลูกค้าทั่วไป พนักงานของจำเลยที่ 1 ก็จะไม่จ่ายเงินให้หากลายมือชื่อไม่เหมือนกัน แต่ที่จ่ายให้เพราะจำเลยที่ 2 เป็นลูกจ้างทำงานอยู่ในสำนักงานของจำเลยที่ 1 สาขาสนามจันทร์ด้วยกัน จึงเชื่อใจอนุโลมและยืดหยุ่นจ่ายให้ไป โดยมิได้ใส่ใจให้ความสำคัญแก่ลายมือชื่อผู้ถอนเงินว่าเป็นลายมือชื่อที่แท้จริงหรือไม่
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่ใบถอนเงินลงชื่อโจทก์เป็นผู้รับเงินเอง แต่ไม่มีตัวโจทก์มาพนักงานของจำเลยที่ 1 ก็ยังจ่ายเงินให้แก่จำเลยที่ 2 ไปแทน พฤติการณ์ชี้ชัดว่าพนักงานของจำเลยที่ 1 ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงในการจ่ายเงินให้แก่จำเลยที่ 2หากพนักงานของจำเลยที่ 1 ใช้ความละเอียดรอบคอบและความระมัดระวังเยี่ยงผู้ประกอบวิชาชีพธนาคารแล้ว ก็ย่อมจะทราบได้ว่าลายมือชื่อโจทก์ในใบถอนเงินเป็นลายมือชื่อปลอม และจำเลยที่ 2 ก็จะไม่สามารถถอนเงินฝากจากบัญชีเงินฝากของโจทก์ไปได้ แม้ในปกหน้าด้านในของสมุดเงินฝาก จะมีข้อความให้ผู้ฝากเงินเป็นผู้เก็บรักษาสมุดเงินฝากเองก็ตาม ก็เป็นเพียงคำแนะนำมิใช่ข้อตกลงในการฝากเงิน
ส่วนในคำขอเปิดบัญชีเงินฝากนั้นก็ไม่ได้มีเงื่อนไขโดยชัดแจ้งว่าผู้ฝากหรือโจทก์จะต้องเก็บรักษาสมุดเงินฝากไว้เอง คงมีแต่คำแนะนำว่าควรเก็บไว้ในที่ปลอดภัยเท่านั้น การที่จำเลยที่ 2ถอนเงินฝากจากบัญชีเงินฝากของโจทก์ไปได้ จึงเกิดจากความประมาทเลินเล่อของพนักงานของจำเลยที่ 1 มิได้เป็นผลโดยตรงจากการที่โจทก์ฝากสมุดเงินฝากไว้กับจำเลยที่ 2 การกระทำของโจทก์ยังถือไม่ได้ว่าโจทก์มีส่วนประมาทเลินเล่อในการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 2 ด้วย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6233/2564
จำเลยประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์ และให้บริการอื่นที่เกี่ยวกับการเงิน รับฝากเงิน และให้บริการการใช้หรือโอนเงินทาง xxx application online ผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่และคอมพิวเตอร์ จึงเป็นผู้รับฝากซึ่งเป็นผู้มีวิชาชีพเฉพาะกิจการค้าขายหรืออาชีวะ จำต้องใช้ความระมัดระวังและใช้ฝีมือเท่าที่เป็นธรรมดาจะต้องใช้และสมควรจะต้องใช้ในกิจการค้าขายหรืออาชีวะอย่างนั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 659 วรรคสาม ปรากฏว่า ระหว่างเวลา 23.41 นาฬิกา ของวันที่ 7 กรกฎาคม 2560 ถึงเวลา 2.01 นาฬิกา ของวันที่ 8 กรกฎาคม 2560
เงินในบัญชีเงินฝากของโจทก์ถูกโอนไปยังบัญชีเงินฝากของผู้อื่นจำนวน 3 บัญชี รวม 12 ครั้ง รวมเป็นเงิน 1,099,999 บาท การโอนเงินที่เป็นการโอนจำนวนย่อยหลายครั้งติดต่อกันในช่วงเวลาเดียวกันในเวลากลางคืน จากบัญชีเงินฝากของโจทก์ไปยังบัญชีเงินฝากของบุคคลอื่นโดยเป็นบัญชีเดียวกันหรือชื่อบัญชีเดียวกัน ย่อมเป็นพฤติกรรมในการทำธุรกรรมทางการเงินที่ผิดปกติ จำเลยซึ่งเป็นผู้มีวิชาชีพเฉพาะกิจการค้าขายหรืออาชีวะต้องทราบถึงวิธีการดังกล่าวและย่อมสังเกตได้ว่าเป็นเรื่องผิดปกติและอาจเป็นการกระทำของมิจฉาชีพผู้ประกอบอาชญากรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ จำเลยจึงควรมีมาตรการที่เหมาะสมในการป้องกันการกระทำธุรกรรมทางการเงินโดยไม่ชอบดังกล่าวด้วย
การที่จำเลยแจ้งเตือนให้แก่ลูกค้าผู้ใช้บริการต่าง ๆ ระมัดระวังอีเมลหลอกลวงจากมิจฉาชีพหรือที่เรียกว่า Phishing Email มาตลอด โดยมีข้อความแจ้งเตือนว่า “แจ้งเตือน กรุณาอย่าหลงเชื่ออีเมลปลอมจากมิจฉาชีพ xxx ไม่มีนโยบายในการส่งอีเมลใด ๆ เพื่อให้ลูกค้ากรอกข้อมูล ชื่อผู้ใช้งาน Password หรือข้อมูลส่วนตัวอื่น ๆ โดยเด็ดขาด” และ “แจ้งเตือนโปรดระวังอีเมลแอบอ้าง (Phishing Email) ว่าเป็นอีเมลจากธนาคารหลอกลวงให้คลิกเพื่อไปยังเว็บไซต์ปลอมเพื่อความปลอดภัยกรุณาพิมพ์ www.xxx.com” ตามเว็บไซต์ของจำเลยในการเข้าระบบ ลูกค้าต้องใช้ชื่อผู้ใช้ (Username) และรหัสผ่าน (Password) ที่ลูกค้าสมัครไว้กับธนาคารเข้าสู่ระบบและต้องใส่รหัสโอทีพี (OTP หรือ One Time Password) ที่ระบบธนาคารส่งให้ที่หมายเลขโทรศัพท์ของลูกค้าเพื่อยืนยันการทำธุรกรรมอีกขั้นตอนหนึ่งจึงจะสามารถทำธุรกรรมต่าง ๆ เกี่ยวกับบัญชีของตนได้
มาตรการดังกล่าวเป็นมาตรการป้องกันความเสียหายแก่การทำธุรกรรมทางการเงินทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อไม่ให้ลูกค้าที่ใช้บริการถูกมิจฉาชีพหลอกลวงเพื่อให้ส่งมอบชื่อผู้ใช้และรหัสผ่านให้เพื่อนำไปใช้กระทำธุรกรรมทางการเงินโดยไม่ชอบซึ่งเป็นข้อควรระวังในด้านของลูกค้า แต่มาตรฐานของจำเลยในการป้องกันการโอนเงินที่เป็นการทำธุรกรรมทางการเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่ชอบดังกล่าวควรจะมีอยู่อย่างไร จำเลยควรจะป้องกันหรือระงับยับยั้งการโอนเงินที่มีความผิดปกติดังกล่าวเมื่อมีการโอนเงินผ่านไปแล้วกี่ครั้ง และเหตุใดพนักงานของจำเลยเพิ่งจะโทรศัพท์แจ้งเตือนไปยังโจทก์หลังจากที่มีการโอนเงินดังกล่าวครั้งที่ 12 และโอนเงินไปรวมเป็นเงิน 1,099,999 บาท แล้ว
ซึ่งมาตรการในการป้องกันความเสียหายที่เหมาะสมหรือสมควรดังกล่าวอยู่ในความรู้เห็นของจำเลยฝ่ายเดียว จำเลยจึงมีภาระการพิสูจน์ในส่วนนี้ แต่จำเลยกลับแสดงให้เห็นว่าจำเลยไม่ได้มีมาตรการในการป้องกันหากเกิดการโอนเงินหรือการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่ชอบในส่วนนี้เลยและไม่ปรากฏว่าจำเลยมีมาตรการในการป้องกันความเสียหายในส่วนนี้อย่างเพียงพอ แม้ในการโอนเงินจำเลยได้มีข้อความแจ้งเตือนไปยังโจทก์ทุกครั้งที่ทำการโอนเงินรวม 12 ครั้ง และพนักงานของจำเลยได้โทรศัพท์ไปหาโจทก์หลังจากที่มีการโอนเงินครั้งที่ 12 แล้ว
มาตรการดังกล่าวถือว่าไม่เพียงพอต่อการป้องกันการโอนเงินหรือการทำรายการหรือธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่ชอบ นอกจากนี้ได้ความว่าโจทก์มิใช่รายแรกที่ถูกหลอกลวงในลักษณะนี้และมีอีกหลายรายที่ถูกหลอกลวงในลักษณะนี้ ย่อมแสดงให้เห็นว่าจำเลยทราบถึงพฤติกรรมการหลอกลวงและวิธีการโอนเงินโดยไม่ชอบดังกล่าวเช่นเดียวกับคดีนี้มาก่อนทั้งเหตุเกิดซ้ำ ๆ กับลูกค้าจำนวนมาก จำเลยซึ่งเป็นผู้มีวิชาชีพเฉพาะกิจการค้าขายหรืออาชีวะและในฐานะที่เป็นผู้ควบคุมระบบมีความสามารถในการตรวจสอบหรือทราบถึงความผิดปกติในการทำรายการต่าง ๆ ได้แต่เพียงฝ่ายเดียวยิ่งต้องเพิ่มความระมัดระวังและหามาตรการในการป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายดังเช่นที่เกิดในคดีนี้อีก หาใช่ว่าหากมีการกรอกชื่อผู้ใช้และรหัสผ่านที่สามารถยืนยันตัวตนได้แล้วบุคคลดังกล่าวจะสามารถดำเนินการธุรกรรมอย่างใดก็ได้โดยจำเลยไม่มีหน้าที่ในการป้องกันไม่ให้มีการโอนเงินที่ไม่ถูกต้องแต่อย่างใดไม่ ดังนั้น
จึงไม่อาจรับฟังได้ว่าจำเลยซึ่งเป็นผู้มีวิชาชีพเฉพาะกิจการค้าขายหรืออาชีวะได้ใช้ความระมัดระวังและใช้ฝีมือเท่าที่เป็นธรรมดาจะต้องใช้และสมควรจะต้องใช้ในกิจการ ค้าขายหรืออาชีวะอย่างนั้นแล้ว อย่างไรก็ตามเมื่อโจทก์ได้รับอีเมลที่ไม่ได้มาจากจำเลยและมีข้อความเชื่อมโยงหรือลิงก์ไปยังเว็บไซต์ที่เลียนแบบเว็บไซต์ธนาคารจำเลย และโจทก์กรอกชื่อผู้ใช้ (username) และรหัสผ่าน (Password) ในเว็บไซต์ดังกล่าว ทำให้มีคนร้ายทราบถึงชื่อผู้ใช้ (username) และรหัสผ่าน (Password) ของโจทก์ และนำไปใช้สมัคร xxx App ในโทรศัพท์เคลื่อนที่ และโจทก์ยังได้กรอกหมายเลขโอทีพี (OTP หรือ One Time password) ในเว็บไซต์ดังกล่าวเป็นเหตุให้คนร้ายสามารถสมัครใช้บริการ xxx App ได้สำเร็จและเกิดการโอนเงินจากบัญชีเงินฝากของโจทก์ไปยังบัญชีอื่น โจทก์เป็นผู้ใช้บริการธุรกรรมทางการเงินอิเล็กทรอนิกส์ผ่านทางอินเทอร์เน็ตก่อนเกิดเหตุเป็นเวลากว่า 10 ปี ทั้งตามใบแจ้งรายการบัญชีออมทรัพย์โจทก์ก็ได้ทำธุรกรรมทางการเงินอิเล็กทรอนิกส์ผ่านทางอินเทอร์เน็ตหลายครั้ง
โจทก์ย่อมมีความเข้าใจในการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านช่องทางดังกล่าวและย่อมทราบถึงคำเตือนของจำเลยตามที่ปรากฏในเว็บไซต์ของจำเลย โจทก์จึงควรมีความระมัดระวังในการตรวจสอบก่อนทำธุรกรรมดังกล่าวมากกว่าที่ปรากฏในคดีนี้ จึงถือว่าโจทก์มีส่วนทำให้เกิดความเสียหายด้วย พฤติกรรมของโจทก์และจำเลยจึงถือว่ามีส่วนทำให้เกิดความเสียหายในคดีนี้ไม่ยิ่งหย่อนกว่ากันและเห็นสมควรกำหนดให้จำเลยต้องรับผิดชดใช้เงินให้แก่โจทก์เป็นเงิน 550,000 บาท เมื่อค่าเสียหายที่จำเลยต้องรับผิดเป็นหนี้เงินหากชำระล่าช้าย่อมก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ซึ่งค่าเสียหายของหนี้เงินตามปกติย่อมคิดกันในรูปของดอกเบี้ย จึงเห็นควรกำหนดให้จำเลยรับผิดดอกเบี้ยดังกล่าวนับแต่วันที่อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาเป็นต้นไป ทั้งนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 222 วรรคหนึ่ง โดยควรให้ในอัตราเดียวกับอัตราดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่อัตราร้อยละ 5 ต่อปี
คำพิพากษาศาลฎีกา 2542/2549
โจทก์ฟ้องโดยยกข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่า โจทก์ฝากเงินไว้แก่จำเลย ต่อมามีบุคคลอื่นปลอมลายมือชื่อของโจทก์ถอนเงินจากบัญชีเงินฝากของโจทก์ จำเลยกระทำโดยประมาทเลินเล่อยอมให้ถอนเงินไป ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้จำเลยรับผิดชำระเงินจำนวนที่ถูกถอนไปแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย คำฟ้องของโจทก์ดังกล่าวมีลักษณะเป็นการเรียกเงินที่ฝากไว้แก่จำเลยคืนตามสัญญาฝากทรัพย์ แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องถึงความประมาทเลินเล่อของจำเลยก็เพื่อแสดงว่า จำเลยจะต้องรับผิดต่อโจทก์เพราะไม่กระทำตามหน้าที่ที่ ป.พ.พ. มาตรา 659 วรรคสาม บัญญัติไว้เท่านั้น หาใช่เป็นการฟ้องในมูลละเมิดซึ่งมีอายุความ 1 ปี ดังที่จำเลยฎีกาไม่ สิทธิเรียกร้องให้คืนเงินตามสัญญาฝากทรัพย์ดังกล่าวมิได้มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30
คำพิพากษาศาลฎีกา 6708/2537
ป.เป็นเพียงลูกจ้างของโจทก์ มีหน้าที่ในการขับรถ ไม่มีหน้าที่ลงลายมือชื่อในเช็คของโจทก์แทนโจทก์ จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ร่วมในการปลอมลายมือชื่อในเช็คพิพาท นอกจากนี้ ป.เบิกเงินตามเช็คพิพาทไปตั้งแต่วันที่ 25 พฤศจิกายน 2529 ดังนั้นแม้ ว.และ ส.ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์จะได้ทราบว่าเช็คพิพาทหายไปจากสมุดเช็คในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2529 ก็ตาม ว.และ ส.ก็แจ้งให้ธนาคารจำเลยที่ 1 สาขาเมืองพานทราบเพื่อไม่ให้จ่ายเงินตามเช็คดังกล่าวไม่ทันอยู่ดี การที่ว.และ ส.มิได้แจ้งให้ธนาคารจำเลยที่ 1 ทราบว่าเช็คพิพาทถูกลักจึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ก่อความเสียหายขึ้นโดยตรง
โจทก์จึงไม่เป็นผู้ต้องตัดบทมิให้ยกข้อลายมือชื่อปลอมขึ้นต่อสู้จำเลยที่ 1 ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1008 วรรคหนึ่ง การที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นพนักงานของธนาคารจำเลยที่ 1 จ่ายเงินของจำเลยที่ 1 ไปโดยประมาทเลินเล่อไม่ตรวจดูลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายในเช็คพิพาทเทียบกับตัวอย่างลายมือชื่อของผู้แทนโจทก์ที่ให้ไว้แก่ธนาคารจำเลยที่ 1ให้ดีเสียก่อนนั้น เป็นเพียงเหตุที่ทำให้จำเลยที่ 1 ได้รับความเสียหายไม่อาจหักเงินจากบัญชีเงินฝากกระแสรายวันของธนาคารโจทก์ได้เท่านั้น จึงเป็นกรณีจำเลยที่ 2และที่ 3 ทำละเมิดต่อจำเลยที่ 1 หาใช่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ทำละเมิดต่อโจทก์ไม่เพราะโจทก์ยังคงมีสิทธิเรียกร้องต่อจำเลยที่ 1 ตามสัญญาฝากเงินตามบัญชีเงินฝากกระแสรายวันได้ตามกฎหมายต่อเมื่อธนาคารจำเลยที่ 1 หักเงินจากบัญชีของโจทก์และปฏิเสธที่จะคืนเงินให้โจทก์ตามจำนวนเงินที่เหลืออยู่เดิมจึงได้ก่อข้อโต้แย้งสิทธิตามสัญญาฝากเงินขึ้นระหว่างจำเลยที่ 1 กับโจทก์ หาใช่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ทำละเมิดต่อโจทก์ขึ้นตั้งแต่ที่จ่ายเงินไปโดยประมาทเลินเล่อนั้นไม่ โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้รับผิดฐานละเมิด ปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยที่ 2 ไม่ได้ฎีกา ศาลฎีกาก็ยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง
สรุป
การดำเนินกิจการของสถาบันการเงินธนาคารบัตรเครดิต เป็นผู้ประกอบธุรกิจที่ให้บริการทางการเงินและเป็นเจ้าของเงินที่มีความเสี่ยงจะถูกคนร้ายโจรกรรมไป ทางสถาบันการเงินสามารถสร้างเครือข่ายร่วมกับธนาคารหรือสถาบันการเงินอื่นเพื่อระงับหรืออายัดเงินดังกล่าวไว้ชั่วคราวเพื่อตรวจสอบได้ แต่กลับไม่รวมกลุ่มกันเพื่อยกระดับการป้องกันภัยทุจริตและประเมินความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้ดังกล่าว หากท่านคิดว่าตนเองถูกมิจฉาชีพหลอกลวงโดยส่วนหนึ่งเกิดจากความประมาทของทางสถาบันการเงิน ค่ายมือถือ หรือผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต ท่านสามารถติดต่อมาทางบริษัทของเรา AMLbot Thailiand เพื่อทำการ ปรึกษาทนาย ฟ้องธนาคารหรือองค์กรที่เกี่ยวข้อง