มิจฉาชีพอาจมาในรูปแบบศูนย์ช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรมออนไลน์ได้

ศูนย์ช่วยเหลือปลอม
สารบัญ

ในปัจจุบันผู้คนเป็นจำนวนมากตกเป็นเหยื่อของการหลอกลวงผ่านช่องทางออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบของการลงทุนปลอม หรือหลอกให้โอนเงิน การที่มีศูนย์ช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรมจึงถือเป็นเรื่องจำเป็นที่ช่วยเหลือประชาชนให้ได้รับความเป็นธรรมและสามารถติดตามเงินของเหยื่อกลับคืนมาได้

แต่มิจฉาชีพบางกลุ่มกลับใช้ศูนย์ช่วยเหลืออาชญากรรมออนไลน์ เป็นเครื่องมือในการหลอกเหยื่อซ้ำอีกครั้ง โดยอาศัยความหวัง ความวิตกกังวล และความไม่รู้ของเหยื่อ มาใช้เป็นเครื่องมือทำให้เหยื่อสูญเสียทรัพย์สินมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม

รูปแบบการหลอกลวงที่พบได้บ่อย

  • ติดต่อผู้เสียหายผ่านโซเชียลมีเดีย โทรศัพท์ หรือแอปพลิเคชันแชต
  • อ้างว่าสามารถช่วยติดตามเงิน หรือยื่นคำร้องขอคืนทรัพย์สินให้
  • หลอกให้ผู้เสียหายส่งข้อมูลส่วนตัว เช่น บัตรประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน หรือเลขที่บัญชี
  • บางรายอาจเรียกเก็บ ค่าดำเนินการล่วงหน้า หรือหลอกให้โอนเงินเพื่อยืนยันตัวตน

ผลกระทบที่ตามมา

เหยื่อที่ตกหลุมพรางกลุ่มแอบอ้างเหล่านี้ อาจถูกขโมยข้อมูลส่วนบุคคล ถูกเปิดบัญชีม้าโดยไม่รู้ตัว หรือแม้กระทั่งถูกหลอกให้โอนเงินซ้ำซ้อน กลายเป็นผู้เสียหายซ้ำสองโดยไม่รู้ตัว

(ตัวอย่าง ผู้เสียหายที่ตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ)

ศูนย์ช่วยเหลืออาชญากรรมออนไลน์ปลอมเป็นอย่างไร ?

ปัจจุบันมิจฉาชีพจำนวนมากแฝงตัวมาในรูปแบบศูนย์ช่วยเหลือเหยื่อออนไลน์ โดยอ้างว่าสามารถช่วยเหลือติดตามเงินหรือยื่นคำร้องคืนทรัพย์สินจากแก๊งมิจฉาชีพ แต่ในความเป็นจริง ศูนย์เหล่านี้ไม่มีตัวตนทางกฎหมาย และไม่มีสำนักงานจริง

ไม่มีข้อมูลบริษัทหรือจดทะเบียนนิติบุคคล

  • ไม่ระบุชื่อบริษัทชัดเจน
  • ไม่มีเลขทะเบียนนิติบุคคล

ไม่มีที่อยู่สำนักงานหรือสถานที่ตั้งจริง

  • ไม่แสดงที่อยู่ชัดเจนบนเว็บไซต์หรือโซเชียล
  • ไม่มีภาพอ้างอิงสำนักงานหรือบุคลากรจริง
  • เมื่อขอข้อมูลเพิ่มเติม มักเลี่ยงตอบ หรือให้ข้อมูลคลุมเครือ
  • ติดต่อได้เฉพาะผ่านแชตเช่น Line, Facebook, Tiktok หรือTelegram และใช้การโทรศัพท์หาเหยื่อโดยตรง

(ตัวอย่าง ช่องทางติดต่อที่ศูนย์ช่วยเหลือปลอมใช้)

ใช้หน้าม้าปลอมตัวเป็นเหยื่อ

(ตัวอย่าง การใช้หน้าม้าทำตัวเป็นเหยื่อ)

หนึ่งในกลยุทธ์ที่ศูนย์ช่วยเหลือออนไลน์ปลอมมักใช้หลอกลวงผู้เสียหาย คือการใช้หน้าม้าแอบอ้างว่าเป็นผู้เสียหายที่เคยได้รับความช่วยเหลือจริง เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือและหลอกให้เหยื่อรายใหม่ตายใจแล้วเข้ามาใช้บริการ

รูปแบบการหลอกลวง

  • หน้าม้าแฝงตัวอยู่ในกลุ่มโซเชียลมีเดีย เช่น Tiktok, Facebook, Telegram หรือ Line
  • ทำทีเป็นเหยื่อที่เคยโดนหลอกมาก่อน และเข้ามารีวิวว่าศูนย์นี้ช่วยได้จริง
  • แสดงความคิดเห็นเชิงบวก เช่น ได้เงินคืนแล้วค่ะ ขอบคุณทีมนี้มาก หรือ ใครยังไม่ได้คืนรีบติดต่อเลย ทีมนี้เก่งมาก

มีการอ้างว่ามีเจ้าหน้าที่ หรือทนายความที่ให้ความช่วยเหลือได้

อ้างตัวว่าเป็นทนายปลอม

(ตัวอย่าง ทนายปลอม)

หนึ่งในกลยุทธ์ที่มิจฉาชีพนิยมใช้คือแอบอ้างว่าเป็นทนายความ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐเพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือ หลอกเหยื่อว่าสามารถช่วยตามเงินคืนจากมิจฉาชีพได้ แต่ความจริงแล้วคือแผนลวงเพื่อหลอกเอาข้อมูลและเงินซ้ำอีกครั้ง

รูปแบบการหลอกลวง

อ้างตัวเป็นทนาย หรือเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานรัฐ

  • อ้างว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย ปปง. ตำรวจ หรือกรมสอบสวนฯ
  • บอกว่าสามารถดำเนินการทางกฎหมาย หรือช่วยยื่นขอคืนเงินแทนได้

ติดต่อเหยื่อผ่านแชตส่วนตัว

  • มักทักมาทาง Facebook, LINE หรือ Telegram พร้อมภาพโปรไฟล์น่าเชื่อถือ
  • แสดงความห่วงใย และอ้างว่า มีช่องทางช่วยเหลือแบบพิเศษ

เรียกเก็บเงินหรือขอข้อมูลสำคัญ

  • อ้างว่าต้องมี ค่าดำเนินการ, ค่าธรรมเนียม หรือ ค่าจ้างทนาย
  • ขอเอกสาร เช่น สำเนาบัตรประชาชน, เลขบัญชีธนาคาร, หรือแม้แต่ Seed Phrase กระเป๋าคริปโต

ข้อสังเกตและวิธีป้องกัน

  • หน่วยงานของรัฐจริง จะไม่มีการติดต่อส่วนตัวผ่านแชต โดยไม่มีหนังสือราชการ
  • ทนายความจริงต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ และสามารถตรวจสอบชื่อได้กับสภาทนายความ ท่านสามารถตรวจสอบได้ที่เว็บไซต์ lawyerscouncil.or.th โดยใช้ชื่อ-นามสกุล, เลขที่ใบอนุญาตว่าความ และบัตรประชาชน

(ตัวอย่าง เหยื่อทนายปลอม)

ตัวอย่างแชทระหว่างผู้เสียหายและมิจฉาชีพ

วิธีป้องกันตัวจากมิจฉาชีพเบื้องต้น

ปัจจุบันมิจฉาชีพมีรูปแบบการหลอกลวงที่ซับซ้อนและแนบเนียนมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นแก๊งคอลเซ็นเตอร์ การหลอกลวงผ่านโซเชียลมีเดีย การแอบอ้างเป็นหน่วยงานรัฐ หรือแม้แต่การหลอกให้ลงทุนผ่านแอปพลิเคชันปลอม AMLBot ขอเสนอวิธีการป้องกันตัวเองจากมิจฉาชีพที่จะมาแบ่งปันทุกท่าน เพื่อที่จะได้รู้เท่าทันและไม่ตกเป็นเหยื่อของเหล่ามิจฉาชีพ ดังต่อไปนี้

อย่าหลงเชื่อสายแปลกหน้า

  • หากได้รับโทรศัพท์จากบุคคลที่อ้างว่าเป็นตำรวจ ปปง. ศาล หรือเจ้าหน้าที่ธนาคาร อย่าเพิ่งตกใจ และ อย่าให้ข้อมูลส่วนตัวใด ๆ ทั้งสิ้น
  • ไม่มีหน่วยงานของรัฐใดที่จะติดต่อทางโทรศัพท์เพื่อขอข้อมูลบัตรประชาชน เลขบัญชี หรือรหัส OTP

ไม่โอนเงินโดยไม่ตรวจสอบ

  • ไม่ว่าผู้โทรจะอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ, บริษัทเอกชน, หรือแม้แต่เพื่อนหรือญาติที่กำลังเดือดร้อน อย่ารีบโอนเงินโดยไม่ตรวจสอบให้แน่ชัด

ตั้งค่าความปลอดภัยบัญชีธนาคารและแอปทางการเงินให้รัดกุม

  • เปลี่ยนรหัสผ่านอย่างสม่ำเสมอ และหลีกเลี่ยงการใช้รหัสผ่านเดียวกันในหลายบริการ
  • เปิดใช้งานการยืนยันตัวตนแบบ 2 ชั้น

ระวังการให้ข้อมูลบนโซเชียลมีเดีย

  • อย่าโพสต์ข้อมูลส่วนตัว เช่น เลขบัญชี เบอร์โทรศัพท์ หรือที่อยู่ ลงบนสาธารณะ
  • ตรวจสอบการตั้งค่าความเป็นส่วนตัวให้รัดกุมอยู่เสมอ

ตรวจสอบข่าวและคำเตือนจากแหล่งทางการ

  • หมั่นตรวจสอบข้อมูลจากเว็บไซต์ของ ปปง., สำนักงานตำรวจแห่งชาติ, ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม
  • หากสงสัยว่ากำลังตกเป็นเหยื่อ โทรสอบถามได้ที่ สายด่วน ปปง. โทร. 1710 หรือ 191

อย่าติดตั้งแอปพลิเคชันจากลิงก์ที่ไม่รู้จัก

  • มิจฉาชีพมักหลอกให้เหยื่อติดตั้งแอปควบคุมเครื่องจากระยะไกล (Remote Access) ซึ่งเป็นอันตรายอย่างยิ่ง
  • ติดตั้งแอปจากแหล่งที่เชื่อถือได้เท่านั้น เช่น Play Store หรือ App Store

หากสงสัยว่าอาจถูกหลอก ติดต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทันที

  • สายด่วน ปปง. โทร. 1710
  • ตำรวจ 191
  • สายด่วน AOC 1441 (Anti Online Scam Operation Center)
  • แจ้งความออนไลน์ได้ที่ thaipoliceonline.com
  • สายด่วนธนาคาร

ความแตกต่างระหว่าง AMLBot และ ศูนย์ช่วยเหลืออาชญากรรมออนไลน์ปลอม มีดังต่อไปนี้

AMLBOT

ศูนย์ให้ความช่วยเหลือปลอม

สรุป

เพื่อปกป้องตนเองจากมิจฉาชีพที่แอบอ้างเป็นศูนย์ช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรมออนไลน์ ควรเพิ่มความระมัดระวังและตรวจสอบข้อมูลอย่างรอบคอบก่อนให้ข้อมูลส่วนตัวหรือโอนเงินให้กับบุคคลหรือองค์กรที่ไม่สามารถยืนยันความน่าเชื่อถือได้ หากสงสัยว่าถูกหลอกลวง ควรรวบรวมหลักฐานและแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป