รู้หรือไม่ว่า ขบวนการคอลเซ็นเตอร์เปลี่ยนเงินบาทที่ได้จากเหยื่อเป็นทรัพย์สินดิจิทัล (Cryptocurrency) ทั้งหมด เส้นทางการเงินของมิจฉาชีพหรือแก๊งคอลเซ็นเตอร์เป็นกระบวนการที่มีความซับซ้อน ถูกออกแบบมาเพื่อปกปิดตัวตนและทำให้ยากต่อการติดตามของเจ้าหน้าที่ โดยมักจะใช้เทคนิคที่หลากหลายเพื่อหลอกลวงเหยื่อและฟอกเงินเพื่อให้ดูเหมือนเป็นเงินที่ถูกกฎหมาย ซึ่งกระบวนการต่างๆ สามารถอธิบายเป็นขั้นตอนได้ ดังนี้
การหลอกลวงเหยื่อเพื่อเอาเงิน
การติดต่อเหยื่อผ่านช่องทางต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นทางโทรศัพท์หรือทางออนไลน์ หลอกล่อให้เหยื่อเชื่อใจและตายใจจนหลงเชื่อและโอนเงินให้กับมิจฉาชีพหรือแก๊งคอลเซ็นเตอร์
ใช้บัญชีม้ารับเงินจากเหยื่อ
บัญชีที่ใช้รับเงินจากเหยื่อของมิจฉาชีพหรือแก๊งคอลเซ็นเตอร์เกือบจะทั้งหมดมักจะเป็นบัญชีม้า ซึ่งที่มาของบัญชีม้าก็มีหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น จ้างบุคคลเปิดบัญชีและเสนอค่าตอบแทนเป็นเงินก้อนหรือเงินรายเดือน, หลอกลวงบุคคลที่มีความเดือดร้อนหรือรู้ไม่เท่าทัน เช่น ผู้สูงอายุ ผู้มีรายได้น้อย หลอกให้เปิดบัญชีโดยไม่รู้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของอาชญากรรม
หลังจากเหยื่อโอนเงินจากบัญชีของตนออกไปที่บัญชีม้าของมิจฉาชีพแล้ว มิจฉาชีพจะทำการโอนต่อไปยังบัญชีม้าอื่นๆ ต่ออีก 3-5 บัญชีขึ้นอยู่กับความรอบคอบหรือขั้นตอนการทำงานของมิจฉาชีพ แต่หากเป็นมิจฉาชีพที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับแก๊งคอลเซ็นเตอร์ก็อาจจะรับเงินมาแล้วถอนเงินสดออกมาใช้ทันทีโดยไม่มีการโอนต่อไปยังบัญชีม้าอื่นๆ ซึ่งบัญชีม้าบางบัญชีอาจถูกปิดทิ้งทันทีหลังใช้งาน รูปแบบการโอนเงินของบัญชีม้าจะมีลักษณะที่เหมือนๆกัน คือ จะโอนเงินออกจากบัญชีทันทีหลังจากที่ได้รับเงินจากเหยื่อ จะไม่มีการเก็บเงินทิ้งไว้ในบัญชี เพราะกลัวการถูกอายัดบัญชีจากธนาคาร

ตัวอย่างเส้นทางการเงินของมิจฉาชีพหรือแก๊งคอลเซ็นเตอร์
แลกเปลี่ยนเงินเป็นสกุลเงินดิจิทัล (Cryptocurrency)
หลังจากที่มิจฉาชีพหรือแก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกให้เหยื่อทำการโอนเงินแล้ว จะทำการแลกเปลี่ยนเงินเป็นสกุลเงินดิจิทัล (Cryptocurrency) ทันที ซึ่งมิจฉาชีพมักจะใช้สกุลเงินดิจิทัล (Cryptocurrency) เป็นเครื่องมือในการซ่อนร่องรอยทางการเงิน เนื่องจากการทำธุรกรรมด้วยสกุลเงินดิจิทัลมีความเป็นส่วนตัวสูง มีอิสระทางการเงินเพราะไม่อยู่ภายใต้การควบคุมของธนาคารหรือรัฐบาลใดๆ ทำให้ยากต่อการตรวจสอบโดยหน่วยงานทางกฎหมาย และยังสามารถโยกย้ายเงินข้ามประเทศได้โดยไม่มีข้อจำกัด
แต่ถึงจะบอกอย่างนั้นสกุลเงินดิจิทัลก็มีข้อดีอยู่ เพราะการซื้อขายสกุลเงินดิจิทัลนั้นทำอยู่บน “บล็อกเชน” (Blockchain) เปรียบเสมือนเป็นสมุดบัญชีออนไลน์ที่ทุกคนสามารถตรวจสอบได้ ทุกครั้งที่มีการทำธุรกรรม ข้อมูลจะถูกบันทึกไว้ใน “บล็อก” ซึ่งบล็อกเหล่านี้จะเชื่อมโยงกันเป็น “โซ่” และไม่มีใครสามารถแก้ไขหรือปลอมแปลงข้อมูลได้ ทำให้ธุรกรรมต่างๆ สามารถตรวจสอบได้ทุกขั้นตอน

ตัวอย่างเส้นทางการเงิน สกุลเงินดิจิทัลของมิจฉาชีพหรือแก๊งคอลเซ็นเตอร์
การฟอกเงิน (Money Laundering)
เมื่อมิจฉาชีพหรือแก๊งคอลเซ็นเตอร์ได้ทำการแลกเปลี่ยนเงินที่ได้รับมาอย่างไม่ถูกต้องให้กลายเป็นสินทรัพย์ดิจิทัลอย่างสกุลเงินดิจิทัล (Cryptocurrency) แล้ว ก็จะทำการฟอกเงินต่อเป็นขั้นตอนสุดท้าย
การฟอกเงินของมิจฉาชีพหรือแก๊งคอลเซ็นเตอร์เป็นกระบวนการที่พยายามจะเปลี่ยนเงินที่ได้มาจากการทำผิดกฎหมายให้กลายเป็นเงินที่ดูเหมือนถูกต้องตามกฎหมาย กระบวนการนี้ซับซ้อนและมักจะใช้หลายขั้นตอนเพื่อปกปิดแหล่งที่มาของเงิน
วิธีการฟอกเงินของมิจฉาชีพหรือแก๊งคอลเซ็นเตอร์มีหลากหลายวิธี ไม่ว่าจะเป็น
- การแปลงเป็นสินทรัพย์อื่นๆ เช่น ทองคำ, รถยนต์ หรือ อสังหาริมทรัพย์ เพื่อปกปิดแหล่งที่มาของเงิน
- การลงทุนในรูปแบบต่างๆ เช่น การซื้อหุ้น, กองทุน หรือ ตราสารอนุพันธ์ เป็นต้น การซื้อหุ้นหรือการเข้าร่วมโครงการลงทุนจะทำให้ดูเหมือนถูกต้องตามกฎหมาย
- การจัดตั้งบริษัทที่ถูกต้องตามกฎหมาย มิจฉาชีพหรือแก๊งคอลเซ็นเตอร์จะตั้งบริษัทเพื่อสร้างรายได้ที่ดูถูกกฎหมาย และใช้บริษัทในการเคลื่อนย้ายหรือโยกย้ายเงินที่ผิดกฎหมาย
“การแก้ไขปัญหาการฟอกเงินของมิจฉาชีพหรือแก๊งคอลเซ็นเตอร์ต้องอาศัยการร่วมมือกันของทุกภาคส่วน ทั้งประชาชน หน่วยงานรัฐ และองค์กรเอกชน เพื่อลดความเสียหายและสร้างความปลอดภัยให้กับสังคม”
จากที่ได้กล่าวมาจะเห็นได้ว่าหลังจากที่เหยื่อโดนหลอกโอนเงินให้มิจฉาชีพหรือแก๊งคอลเซ็นเตอร์แล้ว เงินจะถูกแปลงไปเป็นสินทรัพดิจิทัลหรือสกุลเงินดิจิทัล (Cryptocurrency) ทั้งหมดทันที ซึ่งสกุลเงินดิจิทัลนี้บางคนอาจจะยังไม่รู้ว่าคืออะไร มีหน้าที่อย่างไร ทำอะไรได้บ้าง เรา AMLbot Thailand จะช่วยอธิบายให้ทุกคนเข้าใจได้แบบง่ายๆ ดังนี้
สกุลเงินดิจิทัล (Cryptocurrency) คืออะไร?
สกุลเงินดิจิทัล หรือ Cryptocurrency คือ สินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset) ที่ไม่สามารถจับต้องได้ประเภทหนึ่ง สร้างขึ้นโดยใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) และเทคโนโลยีการเข้ารหัส (cryptography) เพื่อความปลอดภัยและการตรวจสอบธุรกรรม ซึ่งสกุลเงินดิจิทัล (Cryptocurrency) ถูกออกแบบมาเพื่อใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนเช่นเดียวกับสกุลเงินทั่วไป (Fiat Currency)
บล็อกเชน (Blockchain) คืออะไร?
บล็อกเชน (Blockchain) เป็นเทคโนโลยีที่ใช้สำหรับจัดเก็บหรือบันทึกข้อมูลในรูปแบบของบล็อกที่เชื่อมโยงกันเป็นลำดับ โดยข้อมูลจะถูกเก็บอยู่ในแต่ละบล็อก (Block) และเชื่อมโยงกันบนเครือข่ายเหมือนกับโซ่ (Chain) ทำให้ข้อมูลไม่สามารถถูกเปลี่ยนแปลงได้โดยง่าย อีกทั้งทุกคนยังสามารถเข้าถึงและตรวจสอบได้ ซึ่งบล็อกเชน มีลักษณะสำคัญคือการกระจายศูนย์ (decentralization) ซึ่งหมายความว่าไม่มีองค์กรกลางหรือรัฐบาลใดควบคุม ดังนั้น จึงทำให้ธุรกรรมมีความโปร่งใสและปลอดภัย
ข้อดีและข้อเสียของ สกุลเงินดิจิทัล (Cryptocurrency)
ข้อดี
- ลดการพึ่งพาสถาบันการเงินและตัวกลาง
- ธุรกรรมมีความรวดเร็ว โปร่งใส และปลอดภัย
- ลดค่าใช้จ่ายในการโอนเงินระหว่างประเทศ
- มีศักยภาพในการเพิ่มมูลค่าเมื่อความต้องการสูงขึ้น
ข้อเสีย
- ความผันผวนของราคา (Volatility) สูง
- ความเสี่ยงจากการถูกแฮ็กหรือการโจรกรรม
- การใช้ในกิจกรรมผิดกฎหมาย เช่น การฟอกเงิน
- กฎระเบียบในแต่ละประเทศยังไม่ชัดเจน
- ผู้ใช้งานต้องรับผิดชอบดูแลกระเป๋าเงินดิจิทัล (Wallet) ด้วยตัวเอง หากสูญเสีย Private Key จะไม่สามารถกู้คืนได้
สรุป
สกุลเงินดิจิทัล (Cryptocurrency) กำลังได้รับความนิยมมากขึ้นในระบบเศรษฐกิจโลก โดยบางประเทศพัฒนา CBDC (Central Bank Digital Currency) หรือเงินดิจิทัลที่ออกโดยรัฐบาลกลาง เช่น หยวนดิจิทัลของจีน เพื่อสร้างความสมดุลระหว่างเทคโนโลยีและการควบคุมของรัฐบาล สกุลเงินดิจิทัล (Cryptocurrency) จึงเป็นนวัตกรรมที่มีศักยภาพในการเปลี่ยนแปลงระบบการเงินโลก แต่ผู้ลงทุนและผู้ใช้งานควรศึกษาความรู้และเข้าใจความเสี่ยงก่อนเข้าร่วมตลาดนี้